โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยนี้ เชื่อได้ว่าทุกคนคงเคยเป็นและมักมีอาการอึดอัด จุกเสียด ไม่สบายตัว แน่นท้องและบางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมอยู่ด้วย หากมีอาการเหล่านี้ลองหาสมุนไพรมาทำรับประทานกันดู ซึ่งสมุนไพรทั้ง 15 ชนิดนี้ หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่สูง สะดวกทำแบบไหนก็เลือกได้ตามใจชอบเลยค่ะ
15 สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง
1. ขิง
ขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยในการย่อยอาหาร ใช้ขิงแก่สด 2-3 เหง้า ล้างให้สะอาด ทุบให้พอแตก จากนั้นนำไปต้มกับน้ำ และนำน้ำที่ต้มแล้วมาดื่ม ดื่มวันละ 3-4 แก้ว หรือดื่มครั้งละ 1 แก้วหลังรับประทานอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี [related-post id=”478″]
2. ขมิ้น
ขมิ้นสามารถนำมาใช้กับร่างกายได้ทั้งภายในและภายนอก สำหรับอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาจนำมารับประทานแบบสด โดยการปอกเปลือกทิ้ง ล้างให้สะอาดแล้วค่อยนำมารับประทาน หรืออาจหาซื้อขมิ้นแบบแคปซูลที่มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อ ก่อนรับประทานอย่าลืมอ่านฉลากคำแนะนำให้ดีก่อน และควรหยุดใช้เมื่ออาการดีขึ้นหรือหายแล้ว ทั้งนี้ขมิ้นอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น โดยมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ อาเจียน ให้หยุดยาทันที และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดีและไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์
3. กระเทียม
กระเทียมสดมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในการขับลม ลดและบรรเทาอาการท้องอืด แน่นจุกเสียด เพื่อเป็นการป้องกันเราควรรับประทานกระเทียมสด ครั้งละ 5-7 กลีบ หลังอาหารทุกมื้อ นอกจากบรรเทาอาการท้องเฟ้อแล้ว ยังสามารถ ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตได้อีกด้วย
4. มะนาว
เราจะใช้เปลือกมะนาวในการรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง โดยการนำเปลือกสดของมะนาวมาคลึงหรือทุบเล็กน้อย เพื่อให้มีน้ำมันหอมระเหยออกมาที่บริเวณเปลือก จากนั้นนำเปลือกที่คลึงแล้วไปชงกับน้ำร้อนและนำมาดื่ม น้ำมันหอมระเหยที่ติดอยู่ที่เปลือกของมะนาว จะช่วยขับลมและลดอาการท้องอืดได้ หากรสอ่อนเกินไปสามารถผสมน้ำมะนาวลงไปได้เล็กน้อย ก็จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารนั้นทำงานได้ดีขึ้น
5. กระวานไทย
กระวานไทยมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในการขับลม ลดการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิธีใช้ นำเมล็ดแก่แห้งมาบดเป็นผงให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำอุ่นดื่ม โดยใช้ปริมาณครั้งละ 1-3 ช้อนชา ก็จะช่วยให้อาการแน่นจุกเสียดนั้นดีขึ้นได้
6. กระเพรา
กระเพราเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการตั้งธาตุ ช่วยให้ระบบในช่องท้องทำงานเป็นปกติ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด วิธีการใช้อาจนำมากินแบบสด คือใช้ใบกระเพรา 8-10 ใบ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาเคี้ยวและลกืนลงไป หากทนความเผ็ดไม่ไหวให้ลดจำนวนลงเหลือ 3-4 ใบ หรืออีกหนึ่งวิธีคือ การนำใบกระเพราทั้งใบและก้าน ประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาต้มกับน้ำ โดยเติมน้ำให้ท่วมใบกระเพรา ปิดฝาหม้อต้มให้เดือดสัก 5 นาที จากนั้นรินน้ำมาดื่มแบบอุ่นๆ จิบกินทีละนิด ครั้งละ 1-2 แก้ว ไม่ควรดื่มครั้งละมากๆ เพราะอาจทำให้มีอาการท้องอืดมากขึ้น
7. ใบแมงลัก
ใบแมงลักเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม และมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถช่วยในการบรรเทาอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้ เพียงนำใบแมงลักมารับประทานอาจนำมาทำอาหาร เช่น แกงเลียง หรือนำใบสดมาเคี้ยวเป็นเครื่องเคียงในเมนู ขนมจีนน้ำยา ก็จะช่วยขับลมและทำให้ระบบย่อยอาหารในช่องท้องทำงานได้ดีขึ้น
8. ข่า
ข่ามีฤทธิ์ช่วยในการขับน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร เพียงนำเหง้าข่าสด มาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำปูนใส 1 แก้ว ผสมให้เข้ากันแล้วนำมากรองดื่มแต่น้ำ หลังอาหารครั้งละ 1 แก้ว ก็จะสามารถบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดได้
9. ตะไคร้
เลือกต้นตะไคร้ที่แก่สักหน่อย ประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ทุบให้แตก แล้วนำมาต้มกับน้ำ จากนั้นกรองแยกกากออกนำน้ำมาดื่ม เพื่อรักษาอาการท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
[related-post id=”929″]
10. กระชาย
ใช้เหง้าและรากของกระชายสดประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำเปล่า เมื่อเดือดแล้วจึงกรองนำแต่น้ำมาดื่ม จะสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ขับลมในช่องท้องได้
11. สับปะรด
วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่นอกบ้าน คือซื้อสับปะรดมารับประทานหลังกินอาหารเสร็จ โดยรับประทานสัก 4-5 ชิ้น เพื่อให้เอนไซม์ในสับปะรดได้ช่วยย่อยอาหารและบรรเทาอาการท้องอืด
[related-post id=”869″]
12. กานพลู
ใช้ดอกตูมแห้งของกานพลูประมาณ 5-10 ดอก นำมาบดเป็นผงให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำอุ่นดื่ม ก็จะช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยไม่ต้องกินยา
13. หอมแดง
หอมแดงมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร เพียงแค่นำหอมแดงมารับประทานเป็นอาหาร โดยทำเมนูน้ำพริก เครื่องแกง หรือยำประเภทต่างๆ ก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้
14. เทียนข้าวเปลือก
เมล็ดเทียนข้าวเปลือก มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น หากมีอาการท้องอืด หลังรับประทานอาหาร แนะนำให้เคี้ยวเมล็ดเทียนข้าวเปลือกจำนวนหนึ่ง ก็จะช่วยแก้ไขและบรรเทาอาการท้องอืด แน่นท้องได้อย่างแน่นอน
15. ผักดิบ
ข้อนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรแต่อย่างใด แต่คุณควรหลีกเลี่ยง เพราะผักดิบมีส่วนประกอบของเส้นใยสูงมาก หากรับประทานผักดิบเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ แนะนำให้ทานผักที่ผ่านการลวกหรือต้มจะดีกว่า
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาจถือได้ว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะจากจุดเริ่มต้นเล็กๆนี้ อาจนำพาไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังระยะยาวได้ ซึ่งโรคหรืออาการเหล่านี้เป็นโรคทั่วไปที่สามารถป้องกันได้ สาเหตุหลักๆก็มาจากอาหารการกิน ฉะนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเมื่อมีอาการควรรีบแก้ไขก่อนปัญหาจะสายเกินแก้
รับชมวิดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=Mq-vJFgjpDA